พ.ศ.2443 สถาปนากรมแพทย์ทหารบก
มีการสถาปนากรมแพทย์ทหารบก เพื่อปฏิบัติภารกิจ “อนุรักษ์กำลังรบ” คือการดูแลผู้ประกอบอาชีพทหารบก ทั้งการป้องกันโรค การรักษาโรค การฟื้นฟูสภาพ และอื่นๆ
พ.ศ.2481 เปิดโรงพยาบาลอานันทมหิดล
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงกระทำพิธีเปิดโรงพยาบาลอานันทมหิดล ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดลพบุรี นับเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของกองทัพบก
พ.ศ.2482 มีการตั้งโรงเรียนนายทหารเสนารักษ์ กองทัพบก ที่ รพ.อานันทมหิดล ผลิตแพทย์ประกาศนียบัตรได้ 4 รุ่น แล้วได้หยุดดำเนินการ
พ.ศ.2489 กองเสนารักษ์ มณฑลทหารบกที่ 1 ได้แปรสภาพเป็น รพ.ทหารบก ซึ่งต่อมาคือ รพ.พระมงกุฎเกล้า นับเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่สุดของกองทัพบก
พ.ศ.2497 แบ่งส่วนราชการในกรมแพทย์ทหารบก
มีการแบ่งส่วนราชการในกรมแพทย์ทหารบก โดยตั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานอาชีวเวชศาสตร์ คือ กองเวชกรรมป้องกัน ซึ่งมี แผนกอาชีวะและพยาบาลอนามัย และกองวิทยาการ มี แผนกเวชศาสตร์การบิน เพื่อดูแลกำลังพลที่ทำการในอากาศ
พ.ศ.2506 มีการก่อตั้งโรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยกองทัพบก ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นวิทยาลัยพยาบาลกองทัพบก และมีการจัดการเรียนการสอนวิชาอาชีวอนามัยด้วย
พ.ศ.2516 สถาปนาวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า
มีการสถาปนาวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า เพื่อผลิตแพทย์ปริญญาสำหรับดูแลทหารและประชาชน มีภาควิชาเวชศาสตร์ทหารและชุมชน มีการเรียนการสอนวิชาเวชศาสตร์อุตสาหกรรม ซึ่งต่อมาคือวิชาอาชีวเวชศาสตร์
พ.ศ.2541 มีแพทย์ทหารบกสนใจสมัครเข้ารับการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านอาชีวเวชศาสตร์
มีแพทย์ทหารบกสนใจสมัครเข้ารับการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านอาชีวเวชศาสตร์ หลักสูตร 3 ปี ที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ คือ พ.อ.วรินทร์ บุญเลี่ยม นับเป็นรุ่นแรกของประเทศไทย เมื่อสำเร็จการฝึกอบรมแล้วได้ปฏิบัติงานที่กองตรวจโรคผู้ป่วยนอก รพ.พระมงกุฎเกล้า และได้ช่วยราชการที่กองเวชกรรมป้องกัน กรมแพทย์ทหารบก ใน พ.ศ.2545
พ.ศ.2545 กองเวชกรรมป้องกัน เตรียมการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านอาชีวเวชศาสตร์ในกองทัพบก
กองเวชกรรมป้องกัน โดย พ.อ.บุญเติม แสงดิษฐ ได้เตรียมการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านอาชีวเวชศาสตร์ในกองทัพบก ได้ขออนุมัติเป็นต้นสังกัดส่งแพทย์ทหารบกไปฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านอาชีวเวชศาสตร์ 2 นาย คือ นพ.คทาวุธ ดีปรีชา (ปี 45) และ นพ.กฤติณ ศิลานันท์ (ปี 46)
พ.ศ.2547 มีการตั้ง ศูนย์เวชศาสตร์ทหาร รพ.พระมงกุฎเกล้า
พ.ศ.2550 รพ.ค่ายสุรนารี และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร ได้จัดตั้ง แผนกอาชีวอนามัย
พ.ศ.2552 สถาบันพยาธิวิทยา ได้จัดตั้งคณะกรรมการสร้างเสริมสุขภาพและอาชีวอนามัย เพื่อดูแลสุขภาพของบุคลากร
พ.ศ.2555 รพ.พระมงกุฎเกล้า ตั้งคณะกรรมการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย และคลินิกอาชีวเวชกรรม ขึ้น
พ.ศ.2556 รพ.พระมงกุฎเกล้า ขออนุมัติเป็นสถาบันฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงอาชีวเวชศาสตร์
รพ.พระมงกุฎเกล้าได้ขออนุมัติเป็นสถาบันฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงอาชีวเวชศาสตร์ โดย กองตรวจโรคผู้ป่วยนอก ได้เสนอเรื่องนี้เมื่อ 22 ก.พ.56 ผ่าน รพ.พระมงกุฎเกล้า ศูนย์อำนวยการแพทย์พระมงกุฎเกล้า และ กรมแพทย์ทหารบก ตามลำดับ จนถึงแพทยสภา ต่อจากนั้นแพทยสภาได้ส่งเรื่องไปยังสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย และสมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย เพื่อพิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบและประเมินสถาบันฝึกอบรม เพื่อเสนอให้แพทยสภาอนุมัติ คณะอนุกรรมการฯ ได้ตรวจสอบเมื่อ 26 มี.ค.56 และแพทยสภาได้อนุมัติเมื่อ 19 เม.ย.56 ให้ รพ.พระมงกุฎเกล้าฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านอาชีวเวชศาสตร์ได้ปีละ 2 คนตั้งแต่ปีการศึกษา 2556 และในปีต่อมากองตรวจโรคผู้ป่วยนอกฯ ได้จัดตั้งหน่วยอาชีวเวชศาสตร์ขึ้น