1. ชื่อหลักสูตร
(ก) สาขาประเภทที่ 1
(ภาษาไทย) หลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านเพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญ ในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงอาชีวเวชศาสตร์
(ภาษาอังกฤษ) Residency Training in Preventive Medicine (Occupational medicine)
2. ชื่อวุฒิบัตร
ชื่อเต็ม
(ภาษาไทย) วุฒิบัตรเพื่อแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงอาชีวศาสตร์
(ภาษาอังกฤษ) Diploma of the Thai Board of Preventive Medicine (Occupational Medicine)
ชื่ออภิไธย
(ภาษาไทย) แพทย์อาชีวเวชศาสตร์
(ภาษาอังกฤษ) Occupational Medicine Physician
3. หน่วยงานที่รับผิดชอบ
สมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย (โดยสมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย)
4. พันธกิจของการฝึกอบรม / หลักสูตร
เพื่อฝึกอบรมวิชาอาชีวเวชศาสตร์ซึ่งเป็นเวชศาสตร์ป้องกันแขนงที่มุ่งเน้นดูแลประชากรวัยทำงาน โดยให้มีความรู้และสามารถป้องกันในประเด็นสิ่งคุกคามสุขภาพในสิ่งแวดล้อมในการทำงาน และยังมีความสามารถในการดูแลผลต่อสุขภาพจากสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ในเบื้องต้นได้ โดยแพทย์ที่ผ่านการอบรมจะต้องมีความสามารถวางแผน ให้บริการและประเมินผลการดูแลรักษาและป้องกันโรคจากการประกอบอาชีพโดยใช้หลักการของเวชศาสตร์ป้องกันและหลักการของเวชศาสตร์ชุมชนโดยพิจารณาว่าสถานประกอบการเป็นชุมชนประเภทหนึ่งด้วย ศาสตร์ด้านนี้มีความเฉพาะแตกต่างจากเวชศาสตร์ป้องกันทั่วไปและสาขาอื่นๆ คือเน้นเฉพาะสิ่งคุกคามในสถานที่ทำงานซึ่งเป็นสถานที่จำกัด เวลาสัมผัสจำกัด นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการดูแลจัดการผู้ป่วยที่เป็นโรคจากและการบาดเจ็บจากการทำงานได้ด้วย นอกจากนี้สุขภาพของคนวัยทำงานส่วนใหญ่จะแข็งแรงดี และเนื่องจากแพทย์อาชีวเวชศาสตร์จะถูกคาดหวังให้ดูแลด้านสุขภาพที่เกิดจากสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมด้วยดังนั้นในหลักสูตรจึงเพิ่มเรื่องเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมเบื้องต้นเพื่อให้สามารถอธิบายและดูแลประชาชนในเบื้องต้นได้ สมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทยและสมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทยจึงได้พัฒนาหลักสูตรเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงอาชีวเวชศาสตร์ที่มีมาตั้งแต่ปี 2541 ให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น และเพิ่มเนื้อหาด้านเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมเข้าไปมากขึ้น
นอกจากความรู้และทักษะด้านอาชีวเวชศาสตร์ แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ควรมีความสามารถด้านอื่นๆที่สำคัญเช่น ความสามารถในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ความสามารถด้านการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ การสื่อสารความเสี่ยง การทำงานเป็นทีม การบริหารจัดการ ความรู้ความเข้าใจในระบบสุขภาพ กระบวนการคุณภาพเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีความรับผิดชอบ มีจริยธรรม ทัศนคติ และเจตคติที่ดีต่อประชากรที่ดูแล ผู้ร่วมงาน และองค์กร เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการบริการอาชีวอนามัย
5. ผลลัพธ์ของการฝึกอบรม/หลักสูตร
แพทย์ที่จบการฝึกอบรมเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาอาชีวเวชศาสตร์ต้องมีคุณสมบัติและความรู้ความสามารถขั้นต่ำตามสมรรถนะหลักทั้ง 6 ด้านดังนี้
5.1 การดูแลรักษาผู้ประกอบอาชีพ/คนทำงาน (Workers and People Care)
- สามารถประเมินภาวะสุขภาพเพื่อความเหมาะสมกับการทำงานและเพื่อกลับเข้าทำงานภายหลังการ บาดเจ็บ/เจ็บป่วย
- สามารถให้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคและ/หรือการบาดเจ็บแก่ผู้ประกอบอาชีพทุกสาขา อย่างเป็นระบบ
- สามารถจัดและดำเนินการระบบการเฝ้าระวังทางการแพทย์ สอบสวน ควบคุม โรคและ/หรือการบาดเจ็บจากการประกอบอาชีพ และโรคเนื่องจากงาน
- สามารถวินิจฉัย รักษาเบื้องต้น และฟื้นฟูสมรรถภาพ ผู้ป่วยด้วยโรคและ/หรือการบาดเจ็บจากการประกอบอาชีพ และโรคเนื่องจากงาน มีทักษะในการช่วยฟื้นคืนชีพผู้ป่วย
- สามารถประเมินการสูญเสียสมรรถภาพร่างกายและจิตใจจากการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
- สามารถวางแผนและจัดการภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ในสถานประกอบกิจการ
5.2 ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และความสามารถในการนำไปใช้แก้ปัญหาของผู้ประกอบอาชีพ/คนทำงาน และสังคมโดยรอบด้าน (Medical Knowledge and Skills)
- มีความรู้ ในด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานของร่างกาย และจิตใจที่เกี่ยวข้องกับอาชีวเวชศาสตร์
- มีความรู้ และทักษะ ในวิชาชีพ และเชี่ยวชาญในสาขาอาชีวเวชศาสตร์
- สามารถวางแผนและดำเนินการบริการอาชีวเวชกรรม เพื่อสนับสนุนการบริการอาชีวอนามัยในสถานประกอบกิจการหรือแรงงานนอกระบบ แบบผสมผสาน ทั้งในสถานบริการสาธารณสุข สถานประกอบกิจการและชุมชน
- มีความรู้และทักษะในการวางแผน ออกแบบ และบริหารจัดการ ภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่อาจเกิดในที่ทำงาน รวมทั้งการเตรียมการและตอบโต้อุบัติภัย ได้แก่ การจำแนกความรุนแรงของการบาดเจ็บและเจ็บป่วย (Injury and Illness Classification) การออกแบบระบบตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ภายในสถานประกอบกิจการและชุมชน รวมทั้งการใช้ข้อมูลทางด้านภูมิประเทศ ลมฟ้าอากาศ สิ่งคุกคามต่อสุขภาพ ทรัพยากรทางการแพทย์ มาประกอบการวางแผนและประเมินความเสี่ยงที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพตลอดจนการให้คำแนะนำการจัดห้องปฐมพยาบาล ตลอดจนอุปกรณ์ช่วยฟื้นคืนชีพที่จำเป็น
- มีความรู้และประยุกต์ใช้มาตรฐาน กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม
5.3 การเรียนรู้จากการปฏิบัติ และการพัฒนาตนเอง (Learning and Improvement)
- มีการพัฒนาตนเองและการเรียนรู้จากการปฏิบัติตามข้อ 5.1) และ 5.2) ความคิดสร้างสรรค์ตามหลักวิทยาศาสตร์ในการสร้างความรู้ใหม่และพัฒนาระบบบริการสุขภาพ
- ดำเนินการวิจัยทางการแพทย์และสาธารณสุขได้
- วิพากษ์บทความและงานวิจัยทางการแพทย์
- เรียนรู้และเพิ่มประสบการณ์ได้ด้วยตนเองจากการปฏิบัติ
5.4 ทักษะปฏิสัมพันธ์ และการสื่อสาร (Interpersonal and Communication Skills)
- มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ทำงานกับบุคลากรอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
- สื่อสารกับผู้ร่วมงาน ผู้ป่วย ญาติ และชุมชนได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
5.5 ความเป็นมืออาชีพ (Professionalism)
- มีคุณธรรม จริยธรรม และเจตคติอันดีต่อคนทำงาน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ
- มีทักษะด้านที่ไม่ใช่เทคนิค (Non-technical Skills) และ จิตสำนึกด้านความปลอดภัย (Safety Mind)รวมทั้งสามารถบริหารจัดการสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องได้อย่างเหมาะสม
- มีความสนใจใฝ่รู้ และสามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นผู้เรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต (Continuous Professional Development)
- มีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม
5.6 การปฏิบัติงานให้เข้ากับระบบ (System-based Practice)
- มีความรู้เกี่ยวกับระบบสุขภาพของประเทศ
- มีความรู้และมีส่วนร่วมในระบบพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ประกอบอาชีพและรักษาผู้ป่วย และด้านทรัพยากรบุคคล
- ใช้ทรัพยากรสุขภาพอย่างเหมาะสม (Cost-conscious Medical Practice) และสามารถปรับเปลี่ยนการดูแลผู้ประกอบอาชีพและรักษาผู้ป่วยให้เข้ากับบริบทของการบริการสาธารณสุขได้ตามมาตรฐานวิชาชีพ
- บริหารจัดการระบบข้อมูลข่าวสารด้านอาชีวเวชกรรม และประยุกต์ใช้ เพื่อการบริการและวิชาการ
- รู้และเข้าใจ รวมทั้งสามารถประยุกต์ใช้กฎหมายและมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับงานทางอาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ในข้อ 5.1-5.6 จะต้องผ่าน EPA หลักทั้ง 5 ข้อ
6. แผนการฝึกอบรม/หลักสูตร
6.1 วิธีการให้การฝึกอบรม
6.1.1 ขอบเขตของการฝึกอบรม
สถาบันฝึกอบรมมีหน้าที่จัดเตรียมความพร้อมให้แพทย์ประจำบ้านที่ผ่านการฝึกอบรม ได้รับการหล่อหลอมให้มีหลักการของอาชีวเวชศาสตร์และสมรรถนะหลัก 6 ประการ ตามที่สมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กำหนด รวมถึงการมีประสบการณ์ในด้านเวชศาสตร์ป้องกัน การให้บริการอาชีวอนามัย การวินิจฉัยและการจัดการโรคจากการทำงาน และโรคที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงาน ให้ครอบคลุมในทุกกลุ่มอาชีพ ซึ่งจะเป็นความเชี่ยวชาญของแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ต่อไป
6.1.2 ระยะเวลาและระดับของการฝึกอบรม
การฝึกอบรมมีระยะเวลาทั้งสิ้น 3 ปี โดยอนุญาตให้ลาพักผ่อนได้ปีละ 10 วันทำการ หรือไม่เกิน 30 วันทำการ ตลอดการศึกษาอบรม จึงจะมีสิทธิได้รับการประเมินเพื่อวุฒิบัตร ในกรณีลาเกินกว่ากำหนด จะต้องมีการขยายเวลาฝึกอบรมให้มีระยะเวลาการฝึกอบรมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 150 สัปดาห์ จึงจะมีสิทธิได้รับการประเมินวุฒิบัตร นอกจากนี้ผู้ผ่านการอบรมจะต้องผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรปริญญาโทในสาขาอาชีวเวชศาสตร์หรือเทียบเท่าตามที่คณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบฯกำหนดก่อนจึงจะมีสิทธิได้รับการประเมินเพื่อวุฒิบัตรด้วย สถาบันฝึกอบรมทีหน้าที่จัดเตรียมให้แพทย์ประจำบ้านได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ที่เหมาะสมกับระดับชั้นปีที่ฝึกอบรม กล่าวคือใน
ระดับชั้นปีที่ 1 แพทย์ประจำบ้านจะต้องผ่านการอบรมความรู้เบื้องต้นด้านอาชีวเวชศาสตร์ 2 เดือน ตามหลักสูตรของสมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย มีความรู้เรื่องหลักการด้านอาชีวเวชศาสตร์ของประเทศ มีการเรียนรู้ตามหลักการของเวชศาสตร์ป้องกัน การส่งเสริมป้องกันโรค การจัดการเฝ้าระวังโรค การประเมินความเสี่ยงในสถานประกอบกิจการ การประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพ การวินิจฉัยโรคจากการทำงาน โดยจัดการหมุนเวียนดูแลผู้ป่วยโรคจากการทำงานในสาขาต่าง ๆ รวมทั้งการฝึกปฏิบัติในคลินิกโรคจากการทำงาน รวมถึงการใช้เครื่องมือการตรวจทางอาชีวเวชศาสตร์และแปลผลได้อย่างถูกต้อง มีความรู้ในการจัดการเหตุฉุกเฉินในสถานประกอบกิจการ การจัดการเหตุสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น จะต้องทำงานวิจัยด้านอาชีวเวชศาสตร์หนึ่งเรื่อง ทั้งนี้แพทย์ประจำบ้านแต่ละท่านจะต้องมีอาจารย์แพทย์ของสถาบันเป็นที่ปรึกษาตลอดระยะเวลาสามปีที่เรียน
ระดับชั้นปีที่ 2 มีความรู้ในด้านต่าง ๆทางอาชีวเวชศาสตร์มากขึ้น มีความรู้ด้านพิษวิทยาเบื้องต้น และความรู้การทำวิจัย รวมถึงการทำวิทยานิพนธ์ โดยแพทย์ประจำบ้านจะผ่านชั้นปีนี้ได้ต้องทำงานวิทยานิพนธ์ และตีพิมพ์ในวารสารที่คณะอนุกรรมการและสอบฯ กำหนด อย่างน้อยหนึ่งเรื่อง โดยอาจารย์แพทย์ของสถาบันของแพทย์ประจำบ้านจะต้องมีส่วนร่วมด้วย
ระดับชั้นปีที่ 3 เป็นหัวหน้าทีมในการปฏิบัติงานด้านอาชีวเวชศาสตร์ สามารถปฏิบัติงานต่างๆได้ ด้วยตนเอง ภายใต้การควบคุมของอาจารย์แพทย์ในแต่ละสถาบัน และสามารถให้ความรู้แก่แพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 1 และปีที่ 2 พยาบาลอาชีวอนามัย คนงานและเจ้าของสถานประกอบการ เป็นหัวหน้าทีมในการวินิจฉัย ดูแล จัดการผู้ป่วย โดยให้ แพทย์ประจำบ้านอาวุโสเหล่านี้มีโอกาสฝึกฝนให้เกิดทักษะทางด้านการกำกับดูแล การติดตาม การทำงานบริการอาชีวอนามัย การเฝ้าระวังทางการแพทย์ การใช้เครื่องมือต่างๆด้านอาชีว เวชศาสตร์ การบริหารจัดการงานอาชีวอนามัยในโรงพยาบาล รวมทั้งการจัดการเหตุสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น
จะมีการบันทึกประสบการณ์การเรียนรู้ในหนังสือ log book ซึ่งต้องนำมาส่งพร้อมเอกสารในการยื่นสอบ ซึ่งจะต้องบันทึก กิจกรรมได้แก่
- จำนวนและโรคจากการทำงานที่ทำการวินิจฉัย
- จำนวนครั้งการเข้าร่วมประชุมวิชาการประจำปีที่จัดหรือร่วมจัดโดยสมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย รายปี
- จำนวนครั้งและประเภทของการออกสืบสวนหรือสืบค้นโรค
- จำนวนครั้งและประเภทของการทำ Fit for work
- จำนวนครั้งและประเภทของการทำ Return to work
- จำนวนครั้งและประเภทของกิจกรรมวิชาการ ที่เข้าร่วมเช่น Case conference, journal club
- จำนวนครั้งของการร่วมจัดสัมมนา หรือการสอนแสดง
- จำนวนครั้งของการฝึกปฏิบัติการสำรวจสถานประกอบกิจการ
6.1.3 การจัดการฝึกอบรม
6.1.3.1 แนวทางการฝึกอบรม เป้าหมาย และวัตถุประสงค์
สถาบันฝึกอบรมจะต้องมีแนวทางหรือคู่มือการฝึกอบรมที่สอดคล้องกับหลักสูตรของสมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย โดยในแต่ละส่วนย่อยของหลักสูตร (rotation) จะต้องมีการกำหนดวัตถุประสงค์ การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ และวิธีการประเมินให้ชัดเจน
สถาบันฝึกอบรมควรกำหนดสัดส่วนของการเรียนรู้จากการปฏิบัติงานและการเรียนรู้ในห้องเรียน และนอกห้องเรียน ให้เหมาะสม โดยสอดแทรกความรู้ทางด้านเจตคติ และเปิดโอกาสให้มีการเรียนรู้ด้วยตนเองไปตลอดหลักสูตร
เพื่อให้แพทย์ประจำบ้านได้รับประสบการณ์ด้านอาชีวเวชศาสตร์อย่างพอเพียง สถาบันฝึกอบรมควรจัดให้มีแพทย์ประจำบ้านได้มีเวลาฝึกปฏิบัติงานด้านอาชีวเวชศาสตร์รวมกันตลอดหลักสูตรไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของเวลาการฝึกอบรมทั้งหมด ซึ่งงานอาชีวเวชศาสตร์นี้ประกอบไปด้วยการปฏิบัติงานด้านการส่งเสริมป้องกัน การจัดการเฝ้าระวัง และ การประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพ ในสถานประกอบการ การปฏิบัติงานที่คลินิกโรคจากการทำงาน การวินิจฉัยโรคและจัดการโรคจากการทำงาน การทำการฟื้นฟู การจัดคนให้เข้ากับงาน การทำการกลับเข้าทำงาน และการติดตามผู้ป่วยในสถานประกอบการเมื่อกลับเข้าทำงาน
6.1.3.2 การเรียนรู้จากการปฏิบัติงาน
อาชีวเวชศาสตร์
อาชีวเวชศาสตร์เป็นงานเวชศาสตร์ป้องกันเฉพาะด้าน ซึ่งผสมผสานงานด้านคลินิก และการส่งเสริม ป้องกันสุขภาพของคนทำงาน การเฝ้าระวัง การวินิจฉัยและการจัดการโรคจากการทำงาน และโรคที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงาน
การปฏิบัติงาน | การเรียนรู้ |
---|---|
คลินิกโรคจากการทำงาน (คลินิกอาชีวเวชศาสตร์) | เรียนรู้เรื่องการซักประวัติ การตรวจสุขภาพตามความเสี่ยงและการวินิจฉัยโรคจากการทำงาน การจัดการผู้ป่วยโรคจากการทำงานและโรคที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงาน การตรวจสุขภาพเพื่อดูความพร้อมในการทำงาน การประเมินเพื่อกลับเข้าทำงาน การติดตามผู้ป่วยเป็นระยะ การติดตามหลังการจัดการ การออกใบรับรองแพทย์ การตรวจพิเศษทางอาชีวอนามัย การแปลผล และการแจ้งผล หลักการแจ้งผลการตรวจสุขภาพกับนายจ้างและคนงาน รวมทั้งการชดเชยตามหลักการของกองทุนเงินทดแทน โดยแพทย์ประจำบ้านปี 1 สามารถให้การวินิจฉัยและจัดการโรคจากการทำงานที่ไม่ซับซ้อน ทำได้ภายใต้การดูแลของอาจารย์แพทย์ และแพทย์ประจำบ้านปี 2 สามารถทำได้เองบางส่วนสามารถให้คำแนะนำเบื้องต้นเรื่องโรคและการจัดการแก่นายจ้างและคนงานได้ แพทย์ประจำบ้านปี 3 สามารถทำได้เอง และสามารถสอนแสดงให้แก่แพทย์ประจำบ้านปี 1 และปี 2 ตาม EPA4 ในภาคผนวกที่ 6 |
การจัดการบริการอาชีวอนามัยในสถานประกอบการ รวมทั้งการเฝ้าระวัง | การเดินสำรวจสถานประกอบการ การหาความเสี่ยงต่อสุขภาพ การแปลผลการสำรวจสิ่งแวดล้อมในการทำงาน การจัดการตรวจสุขภาพตามความเสี่ยง การแปลผลการตรวจสุขภาพทั้งรายบุคคลและรายกลุ่ม การนำเสนอโครงการด้านอาชีวอนามัยในสถานประกอบการโดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจ การควบคุมติดตามโครงการ การให้ความรู้แก่นายจ้างและลูกจ้างด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับงานที่ทำอยู่ การส่งเสริมป้องกันด้านสุขภาพของคนทำงาน โดยแพทย์ประจำบ้านปี 1 สามารถปฏิบัติได้ภายใต้การดูแลของอาจารย์แพทย์ แพทย์ประจำบ้านปีสองสามารถวางแผนจัดทำโครงการได้ แพทย์ประจำบ้านปี 3 สามารถทำได้เอง ตาม EPA 3 ในภาคผนวกที่ 5 |
เวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม | สามารถประเมินสิ่งแวดล้อมว่าเป็นต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงของภาวะสุขภาพหรือไม่ ร่วมออกไปสำรวจเหตุการณ์ที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมกับอาจารย์แพทย์ โดยต้องเขียนรายงานเหตุการณ์และนำมาสัมมนาร่วมกัน โดยแพทย์ประจำบ้านปีที่ 1 เรียนรู้หลักการจากการอบรมเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมตามหลักสูตรของกรมการแพทย์ และในปีที่ 2 จากการเรียนที่จัดโดยสมาคม สำหรับปีที่ 3 จะออกปฏิบัติในพื้นที่ร่วมกับอาจารย์แพทย์ที่รับผิดชอบ ตาม EPA 5 ในภาคผนวกที่ 7 |
ด้านการส่งเสริมและป้องกันโรคในองค์กร | แพทย์ประจำบ้านปีที่ 1 สามารถอธิบายหลักการด้านเวชศาสตร์ป้องกัน การส่งเสริมสุขภาพ แพทย์ประจำบ้านปีที่ 2 และ 3 สามารถวางแผนโครงการด้านการป้องกันและการส่งเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ รวมทั้งการติดตามประเมินผลได้ ตาม EPA 2 ในภาคผนวกที่ 4 |
ด้านการตรวจความพร้อมในการทำงานและการกลับเข้าทำงาน | แพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 1 เรียนรู้หลักการและฝึกปฏิบัติในกรณีที่พบบ่อยและไม่ยุ่งยาก แพทย์ปีที่ 2 และ 3 เริ่มปฏิบัติในรายที่ยุ่งยากมากขึ้น ภายใต้การดูแลของอาจารย์แพทย์ และต้องสามารถทำได้เองรวมทั้งเป็นพี่เลี้ยงให้แพทย์รุ่นน้องได้ ตาม EPA1 ในภาคผนวกที่ 3 |
6.1.3.3 การเรียนรู้ในห้องเรียน
สถาบันฝึกอบรมต้องจัดกิจกรรมให้แพทย์ประจำบ้านมีการเรียนรู้ในห้องเรียนควบคู่ไปกับการเรียนรู้จากการปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ และเพียงพอที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ โดยสมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทยได้ กำหนดให้มีการจัดกิจกรรมวิชาการอย่างน้อยครึ่งวันต่อสัปดาห์ กิจกรรมวิชาการที่ควรจัดมีดังต่อไปนี้
การเข้าร่วมประชุมวิชาการ หรือประชุมปรึกษาผู้ป่วย ได้แก่
- การประชุมภายในภาควิชา/หน่วยงาน เช่น
- Morning report
- Case conference
- Morbidity / Mortality conference
- Journal club
- Topic discussion
- การประชุมร่วมระหว่างหน่วยงาน เช่น
- Interdepartmental conference
- Interhospital conference
- การบรรยายด้านอาชีวเวชศาสตร์ เช่น
- หลักการด้านเวชศาสตร์ป้องกัน (ประยุกต์ใช้ด้านอาชีวเวชศาสตร์)
- การประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพ
- โรคจากการทำงานที่พบบ่อยและการจัดการ
- เวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมตามที่กำหนด
- การสอนเรื่องการวิจัยและระบาดวิทยาทางคลินิก
- การสอนวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานประยุกต์ ความรู้ทั่วไป และ ภาษาอังกฤษ
- แพทย์ประจำบ้านจะต้องเข้าประชุมวิชาการประจำปีของสมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมที่จัดทุกปี
6.1.3.4 การเรียนรู้แบบอื่น
สถาบันฝึกอบรมควรจัดให้แพทย์ประจำบ้านมีความรู้และเกิดทักษะในเรื่องต่อไปนี้
- จรรยาบรรณทางการแพทย์
- ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย การรักษาความลับของผู้ป่วย การอนุญาตหรือยินยอมรับการตรวจรักษา การทำตัวเป็นกลางในการปฏิบัติงาน
- การปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมวิชาชีพและสังคมโดยส่วนรวม ได้แก่ การรายงานแพทย์ที่บกพร่องต่อหน้าที่ การประชุมทบทวนผลการรักษาเพื่อพิจารณาปรับปรุงวิธีการรักษาอย่างต่อเนื่อง ข้อขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นจากการประกอบวิชาชีพเวชกรรม การใช้ทรัพยากรทางการแพทย์อย่างคุ้มค่า และ ข้อพิจารณาด้านจริยธรรมในการทำงานทางการแพทย์
- Clinical Teaching Skills
- Communication Skills
- การประเมินคุณภาพ การปรับปรุงคุณภาพ การป้องกันความเสี่ยง และความคุ้มค่าของการปฏิบัติงานด้านต่างๆ
- องค์กรเพื่อสุขภาพ การบริหารด้านการเงินในงานบริหารจัดการด้านอาชีวอนามัย
- การศึกษาเพิ่มเติมด้วยตนเอง
- ทักษะและวิธีการในการค้นหาข้อมูลต่างๆ ทางวิชาการ (medical literature) การใช้ internet
- การประเมินการศึกษาวิจัย การออกแบบการวิจัย และการใช้วิจารณญาณในการยอมรับผลการศึกษาวิจัยต่างๆ
- การตัดสินใจในข้อมูลต่างๆ ทางการแพทย์ และการนำมาปฏิบัติในงานดูแลผู้ป่วย
6.1.3.5 การฝึกฝนการใช้เครื่องมือทางอาชีวเวชศาสตร์
สถาบันฝึกอบรมมีหน้าที่สอนและแนะนำแพทย์ประจำบ้านให้เกิดทักษะในการใช้เครื่องมือทางอาชีวเวชศาสตร์ที่จำเป็นและฝึกหัดการแปลผล โดยมีการติดตามอย่างสม่ำเสมอ
6.1.3.6 การวิจัยทางการแพทย์และบันทึกรายงานการศึกษาผู้ป่วย
เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเรียนรู้ทางด้านทฤษฎีเกี่ยวกับการวิจัยขั้นพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ ทางคลินิก หรือทางสังคม และฝึกปฏิบัติจริง สถาบันฝึกอบรมต้องกำหนดให้แพทย์ประจำบ้านมีผลงานการวิจัยทางการแพทย์ในรูปของวิทยานิพนธ์ และรายงานการจัดการเฝ้าระวัง หรือแผนการจัดทำบริการอาชีวอนามัยในสถานประกอบการอย่างเหมาะสม
6.2 เนื้อหาของการฝึกอบรม/หลักสูตร
6.2.1 ความรู้พื้นฐานของเวชศาสตร์ป้องกันทั่วไป (ภาคผนวก 1)
6.2.2 ความรู้พื้นฐานของเวชศาสตร์ป้องกัน เฉพาะแขนง (ภาคผนวก 2)
6.2.3 ทักษะ/เจตนคติของวิชาชีพและความรู้ด้านบูรณาการ แพทย์ประจำบ้านทุกชั้นปีต้องเรียนรู้ดังนี้
- ทักษะเจตนคติของวิชาชีพ
- การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแพทย์และผู้ป่วย
- การรักษามาตรฐานการดูแลรักษาผู้ป่วยให้ดีที่สุด
- การยึดถือประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นสำคัญ
- ความปลอดภัยของผู้ป่วย
- ทักษะการสื่อสารกับผู้ป่วย ญาติ และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ
- มารยาทในการดูแลผู้ป่วยข้างเตียง
- การเรียนรู้ตลอดชีวิตและการถ่ายทอดความรู้ให้ผู้ป่วย ญาติ เพื่อนร่วมงาน
- สามารถประยุกต์ใช้ทักษะเจตนคติวิชาชีพกับคนงาน เพื่อนคนงาน นายจ้าง
- ความรู้ด้านกฎหมาย
- การบันทึกเวชระเบียนที่ครบถ้วนถูกต้อง
- การขอความยินยอมจากผู้ป่วยในการดูแลรักษาและการทำหัตถการ
- สิทธิผู้ป่วย
- การให้ข้อมูลผู้ป่วยที่ถูกต้องครบถ้วน
- พรบ. วิชาชีพเวชกรรม และจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
- การฟ้องร้องทางการแพทย์และการป้องกัน
- พรบ. และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องของกระทรวงแรงงาน และกระทรวงสาธารณสุข
- ความรู้ด้านบริหารจัดการทางการแพทย์
- ระบบประกันสุขภาพต่างๆ เช่น ระบบประกันสังคม ระบบกองทุนเงินทดแทน ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบบประกันสุขภาพเอกชน
- การใช้ระบบประกันสุขภาพต่างๆในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
- หลักการบริหารจัดการ และการใช้ยา และทรัพยากรอย่างสมเหตุผล
- บทบาทของแพทย์ทางเลือก การดูและรักราสุขภาพของตนเอง
- ระบบค่าตอบแทนทางการแพทย์ เช่น fee for services, DRG
- การประเมินการสูญเสียสมรรถภาพตามแนวทางของกองทุนเงินทดแทน
- ระบบและการรับรองคุณภาพของสถานประกอบการเช่น ISO และ มอก.
- ระบบการรับรองคุณภาพของห้องปฏิบัติการ
- ระบบและกระบวนการรับรองคุภาพของโรงพยาบาล
- ความรู้เฉพาะแขนงอาชีวเวชศาสตร์
- สถิติ ตัวเลข ภาพรวมของแรงงาน จำนวนและประเภทของอุตสาหกรรม และอื่นๆในภูมิภาค
- โครงสร้างของรัฐในด้านอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม เช่น กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคม สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน กระทรวงแรงงาน ฯลฯ
- หน่วยงานมาตรฐานด้านอาชืวอนามัยและความปลอดภัยในต่างประเทศ เช่น ILO, NIOSH, OSHA, BSE ฯลฯ
- ระบบเหตุฉุกเฉินเช่น ระบบของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การจัดการเหตุฉุกเฉินในระดับจังหวัด ฯลฯ
6.2.4 การทำวิจัย
การทำวิจัย
แพทย์ประจำบ้านต้องทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับด้านอาชีวเวชศาสตร์ ได้แก่งานวิจัยแบบ retrospective, prospective หรือ cross sectional อย่างน้อย 2 เรื่อง โดยอาจเป็น review หรือ meta-analysis 1 เรื่อ โดยเป็นผู้วิจัยหลัก โดยมีกรอบระยะเวลาดำเนินการภายใน 3 ปี ระหว่างการฝึกอบรม
คุณลักษณะการวิจัย
- เป็นผลงานริเริ่มใหม่ หรือเป็นแนววิจัยที่ใช้แนวคิดที่มีการศึกษามาก่อนทั้งในและต่างประเทศ แต่นำมาศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้ดีขึ้น หรือเข้ากับในบริบทของชุมชนหรือประเทศ
- แพทย์ประจำบ้านและอาจารย์ผู้ดำเนินงานวิจัยทุกคน ควรผ่านการอบรมด้านจริยธรรม การวิจัยในคน งานวิจัยในคนทุกเรื่องต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรม การวิจัยฯของสถาบันและไม่คัดลอกผลงานจากผู้อื่น (plagiarism)
- งานวิจัยทุกเรื่อง ต้องทำตามระเบียบวิจัยที่ถูกต้องเหมาะสมกับคำถามวิจัย
- การใช้ภาษาในการนำเสนอผลงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ขึ้นกับแนวทางของแต่ละสถาบัน
ขั้นตอนการดำเนินงานวิจัย
- ทบทวนวรรณกรรม และเตรียมคำถามการวิจัย ติดต่ออาจารย์ที่ปรึกษา
- จัดทำโครงร่างงานวิจัย
- สอบโครงร่างการวิจัย
- ขออนุมัติการวิจัยจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนของสถาบัน
- เริ่มเก็บข้อมูล เสนอความคืบหน้างานวิจัยต่ออาจารย์ที่ปรึกษาเป็นระยะ
- วิเคราะห์ข้อมูล อภิปรายและจัดทำรายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ ภายใต้การดูแลของคณะอาจารย์ที่ปรึกษาหลักและที่ปรึกษาร่วม
- สอบป้องกันงานวิจัย
- ส่งรายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ต่อสถาบัน หรือสถาบันฝึกอบรมต้นสังกัดแพทย์ประจำบ้านในกรณีที่เข้ารับการอบรมเพื่อทำวิจัยในสถาบันร่วม เพื่อส่งต่อให้สมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย
- ตีพิมพ์หรือนำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการ ในกรณีทีต้องการเสนอพิจารณาเพื่อเทียบวุฒิการศึกษาปริญญาเอก ต้องทำตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานการอุดมศึกษาแห่งชาติ
รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ต้องประกอบด้วยหัวข้อหลักดังนี้
- บทคัดย่อ
- ความเป็นมาของการวิจัย
- จุดประสงค์ของการวิจัย
- ระเบียบวิธีการวิจัย
- ผลการวิจัย
- การวิจารณ์ผลการวิจัย
- เอกสารอ้างอิง
การรับรอง วุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติ สาขาเวชศาสตร์ป้องกันแขนงอาชีวเวชศาสตร์ ให้มีวุฒิ “เทียบเท่าปริญญาเอก” ขณะนี้สมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย ยังไม่มีนโยบายและระเบียบในการรับรองวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติให้ “เทียบเท่าปริญญาเอก”
6.3 จำนวนปีของการฝึกอบรม
3 ปี
6.4 การบริหารการจัดการฝึกอบรม
สถาบันฯ ต้องมีคณะกรรมการซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบและอำนาจในการจัดการ การประสานงาน การบริหาร และ การประเมินผล สำหรับแต่ละขั้นตอนของการฝึกอบรม รวมถึงการให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เหมาะสมมีส่วนร่วมในการวางแผนการฝึกอบรม ประธานแผนการฝึกอบรม/หลักสูตรต้องมีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานในสาขานั้นมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และจะต้องถูกเสนอชื่อจากสมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทยและได้รับการรับรองจากสมาคมเวชศาสตร์ป้องกัน
6.5 สภาวะการปฏิบัติงาน
สถาบันฯ ต้องจัดสภาวะการปฏิบัติงานดังต่อไปนี้
- ให้ผู้เข้ารับการอบรมเข้าร่วมกิจกรรมวิชาการ ที่เกี่ยวข้องกับการฝึกอบรม ระบุกฎเกณฑ์และประกาศให้ชัดเจนเรื่องเงื่อนไขงานบริการและความรับผิดชอบของผู้เข้ารับการฝึกอบรม
- มีการกำหนดการฝึกอบรมทดแทนในกรณีที่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีการลาพัก เช่น การลาคลอดบุตร การเจ็บป่วย การเกณฑ์ทหาร การถูกเรียกฝึกกำลังสำรอง การศึกษาดูงานนอกแผนการฝึกอบรม/หลักสูตร เป็นต้น
- จัดมีค่าตอบแทนผู้เข้ารับการฝึกอบรมอย่างเหมาะสมกับตำแหน่งและงานที่ได้รับมอบหมาย
- ควรมีการระบุชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสม
6.6 การวัดและประเมินผล
มีการแจ้งกระบวนการวัดและประเมินผลให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้รับทราบ โดยสามารถตรวจสอบและอุทธรณ์ได้เมื่อต้องการ การวัดและประเมินผลผู้เข้ารับการฝึกอบรม ประกอบด้วย
6.6.1 การวัดและประเมินผลระหว่างการฝึกอบรมและการเลื่อนชั้นปี
การประเมินระหว่างการฝึกอบรม
สถาบันฝึกอบรมจะต้องจัดให้มีการประเมินผู้เข้ารับการฝึกอบรมระหว่างการฝึกอบรม ครอบคลุมทั้งด้านความรู้ ทักษะ เจตคติ และกิจกรรมทางการแพทย์ ในมิติต่างๆ ดังนี้
- มิติที่ 1 การประเมินกิจกรรมสมรรถนะองค์รวม (Entrustable Professional Activity: EPA) ตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตร (ภาคผนวกที่ 3,4,5,6,7)
- มิติที่ 2 การรายงานผลการสอบจัดโดยสถาบัน (ผ่าน/ไม่ผ่าน)
- มิติที่ 3 การรายงานประสบการณ์เรียนรู้จากการปฏิบัติงานบริการอาชีวอนามัยในสถานประกอบการ และการปฏิบัติงานที่หน่วยฝึกอบรม ผ่านทาง log book หรือ portfolio
- มิติที่ 4 การรายงานความก้าวหน้างานวิจัย และโครงการด้านอาชีวอนามัย (ถ้ามี)
- มิติที่ 5 การร่วมกิจกรรมประชุมวิชาการทางอาชีวเวชศาสตร์
- มิติที่ 6 การเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านอาชีวเวชศาสตร์ซึ่งจัดโดยสมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย และสถาบันอื่นๆ ที่สมาคมโรคจาการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ให้การรับรอง
- มิติที่ 7 การประเมินสมรรถนะด้าน professionalism และ interpersonal and communication skills โดยอาจารย์และผู้ร่วมงาน
การบันทึกข้อมูลการประเมินผู้เข้ารับการฝึกอบรมทำโดย
- ผู้เข้ารับการฝึกอบรม/ สถาบันฝึกอบรม ทำการบันทึกข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องลงใน logbook/portfolio ตามที่สมาคมโรคจาการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กำหนดในแต่ละปีการศึกษา
- สถาบันฝึกอบรมเวชศาสตร์ป้องกันแขนงอาชีวเวชศาสตร์ จะทำการบันทึกข้อมูลการประเมินผู้เข้ารับการฝึกอบรมในมิติที่ 1-6 ทั้งรายบุคคลและรายสถาบัน เพื่อรายงานผลมายังคณะกรรมการฝึกอบรมและสอบฯ ตามที่กำหนด
ผลการประเมินนำไปใช้ในกรณี ต่อไปนี้
- เพื่อเลื่อนระดับชั้นปี
- เพื่อใช้พิจารณาคุณสมบัติผู้เข้าสอบเพื่อวุฒิบัตรฯ
การประเมินระหว่างการฝึกอบรมโดยสม่ำเสมอและแจ้งผลให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมรับทราบจะช่วยให้เกิดการพัฒนาสมรรถนะหลักด้านต่างๆ ของผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้สมบูรณ์ขึ้น
เกณฑ์การเลื่อนชั้นปี
- ปฏิบัติงานไมด่ำกว่าร้อยละ 80 ของระยะเวลาที กำหนด
- ผ่านการประเมินตามมิติต่างๆ ที่กำหนดในหลักสูตร โดยได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของแต่ละ มิติยกเว้นการสอบมิติที่ 2 ให้ใช้เกณฑ์ของแต่ละสถาบันกำหนด
- ผ่านเกณฑ์การประเมิน EPA (ภาคผนวก 3,4,5,6,7)
- ปฏิบัติได้สอดคล้องตามข้อกำหนดของสถาบันฝึกอบรม ไม่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียแก่สถาบัน
แนวทางการดำเนินการกรณีไม่ผ่านการประเมินเพื่อเลื่อนชั้นปี
- ต้องปฏิบัติงานเพิ่มเติมในส่วนที่สถาบันกำหนด แล้วทำการประเมินซ้ำ ถ้าผ่านการประเมินจึงสามารถเลื่อนชั้นปีได้
- ถ้าไม่ผ่านการประเมินเพื่อเลื่อนชั้นปีซ้ำตามข้อที่ 1 หรือไม่ผ่านการประเมินเพื่อรับการเสนอชื่อเข้าสอบวุฒิบัตร ต้องปฏิบัติงานในระยะชั้นปีเดิมอีก 1 ปี
- หลังจากปฏิบัติงานซ้ำในชั้นปีเดิมอีก 1 ปี แล้วยังไม่ผ่านการประเมินเพื่อเลื่อนชั้นปี ให้ยุติการฝึกอบรม
ทั้งนี้ให้สถาบันส่งผลการประเมินแพทย์ประจำบ้าน ภายในวันที่ 31 กรกฎาคมของทุกปี เพื่อเสนอที่ประชุมคณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบฯราชวิทยาลัยฯและแพทยสภาตามลำดับ
6.6.2 การวัดและประเมินผลเพื่อวุฒิบัตรฯ
การสอบเพื่อวุฒิบัตรฯ
- คุณสมบัติผู้มีสิทธิ์เข้าสอบ
- ผ่านการฝึกอบรมครบตามหลักสูตร ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของระยะเวลาการฝึกอบรม
- ผ่านการประเมินความรู้ ทักษะ และเจตคติ ตลอดการฝึกอบรม 3 ปี
- ส่งวิทยานิพนธ์/สารนิพนธ์ ที่ใช้ประกอบการสำเร็จหลักสูตรปริญญาโทและมีการ เผยแพร่ผลงานหรือได้รับการตอบรับให้เผยแพร่ในวารสารวิชาการแล้ว
- สถาบันฝึกอบรมเห็นสมควรและเสนอชื่อให้เข้าสอบ
- เอกสารประกอบ
- เอกสารรับรองประสบการณ์ภาคปฏิบัติจากสถาบันฝึกอบรมตามที่กำหนด
- รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ และใบรับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์
- รายงานการเผยแพร่งานวิจัยตามเกณฑ์ที่ อฝส.กำหนด
- log book ที่มีอาจารย์แพทย์ที่สถาบันรับรอง ลงชื่อกำกับ
- วิธีการประเมินเพื่อวุฒิบัตรประกอบด้วย
- ข้อสอบกลางของสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย เป็นข้อสอบปรนัย (300 คะแนน) เนื้อหาประกอบด้วย ความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน และความรู้พื้นฐานด้านเวชศาสตร์ป้องกัน 200 คะแนน ความรู้เฉพาะแขนงอาชีวเวชศาสตร์ 100 คะแนน
- ข้อสอบเฉพาะแต่ละแขนง(700 คะแนน) ประกอบด้วย
- การสอบปรนัย (MCQ) ในแขนงของตนเอง (200 คะแนน)
- การสอบอัตนัย (MEQ, essay, short answer question) (200 คะแนน)
- การสอบรูปแบบอื่น ๆ (300 คะแนน) โดยสถาบันสามารถเลือกรูปแบบและกำหนดสัดส่วน การสอบได้เอง โดยต้องมีการสอบอย่างน้อย 2/3 รูปแบบคือ
- การสอบ OSCE (Objective Structured Clinical Examination)
- การสอบ Long case/Long Scenario ทดสอบทักษะการแก้ปัญหาในแขนงที่เกี่ยวข้อง
- การสอบปากเปล่า (Oral Examination)
- ผ่านการประเมินผลงานวิจัย
- ผ่านการประเมินผลปฏิบัติงานจากสถาบันฝึกอบรม ได้แก่ log book และ/หรือ แฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio), EPA
เกณฑ์การพิจารณาตัดสินผลการประเมิน ใช้เกณฑ์ร้อยละ 60 หรือโดยอยู่ในดุลยพินิจของคณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบฯ แต่ละแขนง
6.6.3 การวัดและประเมินผลเพื่ออนุมัติบัตรฯ
ผู้สมัครสอบต้อง
- เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมและได้ทำงานในสาขาอาชีวเวชศาสตร์เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยต้องทำงานในสถาบันที่ผ่านการรับรองจากคณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบ
- ต้องมีการปฏิบัติงาน และมี Log book แสดงว่ามีการปฏิบัติงานในแขนงอาชีวเวชศาสตร์จริง โดยต้องมีการลงรายชื่อรับรองจากแพทย์ที่ได้รับหนังสืออนุมัติหรือวุฒิบัตร สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงอาชืวเวชศาสตร์ และผู้สมัครต้องมีประสบการณ์ดังต่อไปนี้
- ต้องมีการเดินสำรวจสถานประกอบกิจการ โรงงานอย่างน้อย 10 แห่ง
- ตรวจสุขภาพตามความเสี่ยงอย่างน้อย 10 ครั้ง
- สอบสวนโรคจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมอย่างน้อย 5 ครั้ง
- ร่วมปฏิบัติงานคลินิกโรคจากการทำงาน และวินิจฉัยผู้ป่วยโรคจากการทำงานอย่างน้อย 10 ราย
- อื่นๆ (ถ้ามี) เช่นรูปแบบการจัดบริการ นวตกรรม
- ผลงานวิจัย หรือวิทยานิพนธ์
- ในสาขาอาชีวเวชศาสตร์ 2 เรื่องที่ตีพิมพ์ ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (ต้องแนบสำเนามาด้วย) โดยมีสัดส่วนร่วมงานไม่น้อยกว่า ร้อยละ 50 และตีพิมพ์ในวารสารกลุ่ม 1 หรือ กลุ่ม 2 ในฐานข้อมูลของศูนย์ดัชนีการอ้างอิง วารสารไทย Thai-Journal Citation Index Center- TCI) หรือวารสารของต่างประเทศ ที่อยู่ในฐานข้อมูล SCOPUS, ISI หรือ PUBMED
- ผลงานวิจัย หรือวิทยานิพนธ์ ในสาขาอาชีวเวชศาสตร์ 1 เรื่องที่ตีพิมพ์ ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (ต้องแนบสำเนามาด้วย) โดยมีสัดส่วนร่วมงานไม่น้อยกว่า ร้อยละ 50 และตีพิมพ์ในวารสารกลุ่ม 1 หรือ กลุ่ม 2 ในฐานข้อมูลของศูนย์ดัชนีการอ้างอิง วารสารไทย Thai-Journal Citation Index Center- TCI) หรือวารสารของต่างประเทศ ที่อยู่ในฐานข้อมูล SCOPUS, ISI หรือ PUBMED และตำราหรือหนังสืออย่างน้อย 1 บท ที่ตีพิมพ์ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (ต้องแนบสำเนามาด้วย) โดยมีคุณภาพดี มีเอกสารอ้างอิงและมีสัดส่วนร่วมงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 โดยต้องเป็น ชื่อแรก
- ต้องผ่านการฝึกอบรมระยะสั้น ความรู้พื้นฐานด้านอาชีวเวชศาสตร์ 2 เดือน ในหลักสูตรที่ผ่านการรับรองจาก คณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบ สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงอาชีวเวชศาสตร์ โดยสถาบันที่คณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบฯ รับรอง
เกณฑ์การตัดสิน
- มีคุณสมบัติและผลงานครบถ้วนตามเกณฑ์
- ส่งผลงานวิจัยตามเวลาที่กำหนด และผลงานต้องมีคุณภาพผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบ
- ผ่านการประเมิน EPA เช่นเดียวกับผู้สอบเพื่อวุฒิบัตรฯ
- การสอบจะใช้ข้อสอบและเกณฑ์การตัดสินเช่นเดียวกับการสอบเพื่อวุฒิบัตรฯ
เกณฑ์เฉพาะทางของสถาบันฝึกอบรม
สถาบันฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงอาชีวเวชศาสตร์ จะต้องได้รับการรับรองจากสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทยและสมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย โดยมีสถานที่, เครื่องมือ, อุปกรณ์, จำนวนผู้ป่วย, การบริการและผู้ดำเนินการฝึกอบรมเป็นไปตามเกณฑ์ที่คณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบ สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมกำหนด โดยความเห็นชอบของสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย สมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทยและแพทยสภาดังนี้
- มีสถานที่และเครื่องมือ อุปกรณ์ที่เพียงพอสำหรับการฝึกอบรมทางอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม
- มีจำนวนและคุณวุฒิของอาจารย์ผู้ให้การฝึกอบรมที่เหมาะสม ตามที่แสดงในข้อ 8คุณสมบัติของอาจารย์แพทย์ผู้ฝึกอบรม
- มีคลินิกเฉพาะทางและหน่วยงานสนับสนุน
สถาบันฝึกอบรม สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม ควรจะมีคลินิกเฉพาะทางเพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ ผลิตองค์ความรู้ทางด้านลึกและใช้ฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทาง- Occupational and environmental medicine clinic
- Internal medicine clinic
- Toxicology clinic
- Chest clinic
- Otology clinic
- Ophthalmology clinic
- Orthopedic clinic
- Rehabilitation clinic
- Psychiatry clinic
- มีกิจกรรมทางวิชาการสม่ำเสมอ
สถาบันฝึกอบรมที่อยู่ในโรงเรียนแพทย์จะต้องได้รับการประเมินคุณภาพจาก สมศ. (สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน))
7. การรับและคัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรม
7.1 คุณสมบัติของผู้เข้ารับการฝึกอบรม
ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
- ได้รับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต หรือเทียบเท่าที่แพทยสภารับรองได้รับการขึ้นทะเบียนประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากแพทยสภาแล้ว และได้ผ่านการปฏิบัติเพื่อเพิ่มพูนทักษะเป็นเวลา 2 ปี
- ผ่านการคัดเลือกตามเกณฑ์คัดเลือกของสถาบันที่ฝึกอบรม และความเห็นชอบจากคณะกรรมการฝึกอบรมและสอบฯ
- มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์แพทยสภาในการเข้ารับการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทา
7.2 จำนวนผู้เข้ารับการอบรม
สมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทยกำหนดให้สถาบันฝึกอบรมรับผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้ในสัดส่วนปีละ/ชั้นละไม่เกิน จำนวนอาจารย์ผู้ให้การฝึกอบรมเต็มเวลา – 1 คน โดยทั้งนี้สถาบันฝึกอบรมต้องมีอาจารย์ผู้ให้การฝึกอบรมเต็มเวลา อย่างน้อย 2 คนขึ้นไปตามที่กำหนดในตารางต่อไปนี้
เกณฑ์สถาบันการอบรมเฉพาะแขนงอาชีวเวชศาสตร์
จำนวนผู้เข้ารับการฝึกอบรมปีละ ชั้นละ | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 |
จำนวนอาจารย์ผู้ให้การฝึกอบรมเต็มเวลา | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 |
จำนวนผู้ป่วยนอกคลินิกที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้แรงงาน เช่น คลินิกอาชีวเวชกรรมและเวชกรรมสิ่งแวดล้อม คลินิกประกันสังคม (ครั้ง/ปี) | 200 | 400 | 600 | 800 | 1000 | 1200 |
เดินสำรวจสถานประกอบการ (walkthrough survey) (ครั้ง/ปี) | 12 | 14 | 16 | 18 | 20 | 22 |
ให้คำปรึกษาแนะนำสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคจากการทำงานและโรคที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงานในที่ทำงาน (ครั้ง/ปี) | 50 | 60 | 70 | 80 | 90 | 100 |
ตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน ระหว่างการทำงาน (ครั้ง/ปี) | 10 | 15 | 20 | 25 | 30 | 35 |
ให้คำปรึกษาโรคจากการทำงานและโรคที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงานภายใน/ภายนอกโรงพยาบาล (ครั้ง/ปี) | 50 | 60 | 70 | 80 | 90 | 100 |
เฝ้าระวัง สอบสวนโรคจากการทำงานและโรคที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงานหรือโรคเหตุสิ่งแวดล้อม (ครั้ง/ปี) | 10 | 15 | 20 | 25 | 30 | 35 |
อาจารย์แพทย์เฉพาะทาง | ||||||
อายุรกรรม | 1 | 1 | 1 | 1 | 1 | 1 |
ตจวิทยา | 1 | 1 | 1 | 1 | 1 | 1 |
อุรเวชวิทยา | 1 | 1 | 1 | 1 | 1 | 1 |
พิษวิทยา | 1 | 1 | 1 | 1 | 1 | 1 |
โสต ศอ นาสิก | 1 | 1 | 1 | 1 | 1 | 1 |
จักษุวิทยา | 1 | 1 | 1 | 1 | 1 | 1 |
ออร์โธปิดิกส์ | 1 | 1 | 1 | 1 | 1 | 1 |
เวชศาสตร์ฟื้นฟู | 1 | 1 | 1 | 1 | 1 | 1 |
สูตินรีเวช | 1 | 1 | 1 | 1 | 1 | 1 |
ศัลยกรรม | 1 | 1 | 1 | 1 | 1 | 1 |
หมายเหตุ กรณีที่มีแพทย์เฉพาะทางไม่ครบสามารถไปหมุนเวียนในสถาบันที่มีแพทย์เฉพาะทาง โดยแจ้งมาที่คณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบฯ
กรณีที่แผนงานฝึกอบรมของสถาบันใด มีลักษณะเป็นสถาบันฝึกอบรมแบบภาคี ให้นับจำนวนอาจารย์ของสถาบันฝึกอบรมทุกแห่งรวมกันในการคำนวณศักยภาพ
7.3 กระบวนการคัดเลือกผู้สมัครเข้ารับการฝึกอบรม
สถาบันฝึกอบรมต้องจัดให้มีคณะกรรมการคัดเลือกแพทย์ประจำบ้าน เพื่อดำเนินการคัดเลือกผู้สมัครเข้ารับการฝึกอบรม การคัดเลือกต้องเป็นไปอย่างยุติธรรม โปร่งใส และเท่าเทียมกัน โดยต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ต่อปี
- ต้องมีการประกาศคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ จำนวนแพทย์ประจำบ้านที่จะรับ และวิธีคัดเลือกผู้สมัครให้ชัดเจนผ่านทางสื่อต่างๆและ Website ของสถาบัน
- คณะกรรมการฯต้องตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครโดยละเอียดให้เป็นไปตามเกณฑ์ จะต้องแจ้งให้ผู้สมัครที่มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนทราบ
- คณะกรรมากรฯสามารถคัดเลือกผู้สมัครด้วยวิธีต่างๆ เช่น การสอบ การสัมภาษณ์ การประเมินจากประวัติการทำงาน ประวัติการเรียนที่ผ่านมา ฯลฯ แต่ต้องแจ้งหัวข้อในการประเมินต่างๆให้ผู้สมัครทราบก่อนการสมัคร โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งสัดส่วนคะแนน
- หลังการสอบคัดเลือก คณะกรรมการฯต้องมีการประชุมกันเพื่อลงมติเลือกผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือกเข้าฝึกอบรม
- คณะกรรมการฯต้องแจ้งผลให้ผู้สมัครทุกคนทราบเป็นลายลักษณ์อักษร
8. อาจารย์ผู้ให้การฝึกอบรม
8.1 คุณสมบัติของประธานการฝึกอบรม
ต้องเป็นแพทย์ซึ่งได้รับวุฒิบัตร หรือหนังสืออนุมัติเพื่อแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาเวชศาสตร์ป้องกันแขนงอาชีวเวชศาสตร์ และปฏิบัติงานด้านอาชีวเวชศาสตร์อย่างน้อย 5 ปีภายหลังได้รับวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติฯ
8.2 คุณสมบัติและจำนวนของอาจารย์ผู้ให้การฝึกอบรม
8.2.1 คุณสมบัติของอาจารย์ผู้ให้การฝึกอบรม
ต้องเป็นแพทย์ซึ่งได้รับวุฒิบัตร หรือหนังสืออนุมัติเพื่อแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาเวชศาสตร์ป้องกันแขนงอาชีวเวชศาสตร์ และปฏิบัติงานด้านอาชีวเวชศาสตร์อย่างน้อย 2 ปีภายหลังได้รับวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติ ฯ
ผู้ให้การฝึกอบรมแบบเต็มเวลา หมายถึง ข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย ลูกจ้างประจำรวมทั้งอาจารย์เกษียณอายุราชการปฏิบัติงานในโรงพยาบาล คณะแพทยศาสตร์หรือหน่วยงานที่ปฏิบัติงานเต็มเวลา และได้รับเงินเดือนในอัตราเต็มเวลา
ผู้ให้การฝึกอบรมแบบไม่เต็มเวลา แบ่งเป็น 2 ประเภท
- ก. พนักงานมหาวิทยาลัยหรือลูกจ้างประเภทบางเวลาอย่างน้อยครึ่งเวลา และได้รับเงินเดือนตามสัดส่วนงาน ให้นับเวลาปฏิบัติงานตามสัญญาจ้าง
- ข. ผู้ที่ปฏิบัติงานอยู่ที่สถาบันอื่น แผนกอื่น หรืออาจารย์เกษียณอายุมาช่วยสอนบางเวลา โดยไม่ได้มีสัญญาจ้างจากหน่วยงาน หรือปฏิบัติงานน้อยกว่าครึ่งเวลา ให้คิดเวลาปฏิบัติงานเฉพาะที่มาปฏิบัติงานสำหรับการเรียนการสอนแพทย์ประจำบ้านสาขาเวชศาสตร์ป้องกันแขนงอาชีวเวชศาสตร์ และไม่นับเวลาที่มาสอนนักศึกษา/นิสิตแพทย์และแพทย์ประจำบ้านสาขาอื่น
ผู้ให้การฝึกอบรมวุฒิบัตรฯในระดับเดียวกันใช้ศักยภาพได้ 35 ชั่วโมง ต่อสัปดาห์ใน 1 สาขาวิชา แต่ถ้าฝึกอบรมมากกว่า 2 สาขาวิชา ต้องแบ่งศักยภาพเป็น 2 สาขาวิชา โดยคิดสาขาวิชาหลักไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง
8.2.2 จำนวนอาจารย์ผู้ให้การฝึกอบรม
ต้องมีจำนวนอาจารย์ผู้ให้การฝึกอบรมปฏิบัติงานเต็มเวลาให้เพียงพอ อาจให้มีอาจารย์แบบไม่เต็มเวลาได้ โดยมีข้อกำหนดดังนี้
- จำนวนอาจารย์แบบไม่เต็มเวลาต้องไม่มากกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนอาจารย์เต็มเวลา
- ภาระงานของอาจารย์แบบไม่เต็มเวลาแต่ละคนต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของภาระงานอาจารย์เต็มเวลา
สถาบันฯ ต้องกำหนดและดำเนินนโยบายการสรรหาและคัดเลือกอาจารย์ผู้ให้การฝึกอบรมให้สอดคล้องกับพันธกิจของแผนการฝึกอบรม/หลักสูตร ระบุคุณสมบัติของอาจารย์ผู้ให้การฝึกอบรมที่ชัดเจน โดยครอบคลุมความชำนาญที่ต้องการ ได้แก่ คุณสมบัติทางวิชาการ ความเป็นครู และความชำนาญทางคลินิก
สถาบันฯต้องระบุหน้าที่ความรับผิดชอบ ภาระงานของอาจารย์ และสมดุลระหว่างงานด้านการศึกษา การวิจัย อาจารย์ต่อผู้เข้ารับการฝึกอบรมให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่แพทยสภากำหนดไว้ อาจารย์จะต้องมีเวลาเพียงพอสำหรับการให้การฝึกอบรม ให้คำปรึกษา และกำกับดูแล นอกจากนั้นอาจารย์ยังต้องมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องทั้งทางด้านการแพทย์และด้านแพทยศาสตร์ศึกษา
สถาบันฯ ต้องจัดให้มีการพัฒนาอาจารย์อย่างเป็นระบบ และมีการประเมินอาจารย์เป็นระยะ
ในกรณีที่สัดส่วนของอาจารย์ต่อผู้เข้ารับการฝึกอบรมลดลงกว่าที่ได้รับอนุมัติไว้ สถาบันควรพิจารณาลดจำนวนผู้เข้ารับการฝึกอบรมลงตามความเหมาะสมเพื่อคงคุณภาพการฝึกอบรมไว้
9. ทรัพยากรทางการศึกษา
สถาบันฯ ต้องกำหนดและดำเนินนโยบายเกี่ยวกับทรัพยากรการศึกษาให้ครอบคลุมประเด็นต่อไปนี้
- สถานที่และโอกาสในการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ การเข้าถึงแหล่งข้อมูลทางวิชาการที่ทันสมัย สามารถใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้อย่างเพียงพอ มีอุปกรณ์สำหรับฝึกอบรมภาคปฏิบัติและมีสิ่งแวดล้อมทางการศึกษาที่ปลอดภัย
- การคัดเลือกและรับรองการเป็นสถานที่สำหรับการฝึกอบรม จำนวนสถานที่ฝึกปฏิบัติงาน และผู้ป่วยเพียงพอและชนิดของผู้ป่วยหลากหลายสอดคล้องกับผลลัพธ์ของการเรียนรู้ที่คาดหวัง รวมทั้งการทำโครงการเฝ้าระวังโรค การให้บริการอาชีวอนามัย การประเมินความพร้อมในการทำงาน การกลับเข้าทำงาน การเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกทางคลินิกและการเรียนภาคปฏิบัติที่พอเพียงสำหรับสนับสนุนการเรียนรู้
- สื่ออิเล็กทรอนิกส์สำหรับการเรียนรู้ที่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมสามารถเข้าถึงได้ มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารให้เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกอบรมอย่างมีประสิทธิภาพและถูกหลักจริยธรรม
- การจัดประสบการณ์ในการปฏิบัติงานเป็นทีมร่วมกับผู้ร่วมงานและบุคลากรวิชาชีพอื่น
- ความรู้และการประยุกต์ความรู้พื้นฐานและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในสาขาวิชาที่ฝึกอบรม มีการบูรณาการ และสมดุลระหว่างการฝึกอบรมกับการวิจัยอย่างเพียงพอ
- การนำความเชี่ยวชาญทางแพทยศาสตร์ศึกษามาใช้ในการจัดทำแผนการฝึกอบรม การดำเนินการฝึกอบรม และการประเมินการฝึกอบรม
- การฝึกอบรมในสถาบันอื่น ทั้งในและนอกประเทศตามที่ระบุไว้ในหลักสูตร ตลอดจนระบบการโอนผลการฝึกอบรม
10. การประเมินแผนการฝึกอบรม/หลักสูตร
สถาบันฯ ต้องกำกับดูแลการฝึกอบรมให้เป็นไปตามแผนการฝึกอบรม/หลักสูตรเป็นประจำ มีกลไกสำหรับการประเมินหลักสูตรและนำไปใช้จริง การประเมินแผนการฝึกอบรม/หลักสูตร ต้องครอบคลุม
- พันธกิจของแผนการฝึกอบรม/หลักสูตร
- ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่พึงประสงค์
- แผนการฝึกอบรม
- ขั้นตอนการดำเนินงานของแผนการฝึกอบรม
- การวัดและประเมินผล
- พัฒนาการของผู้รับการฝึกอบรม
- ทรัพยากรทางการศึกษา
- คุณสมบัติของอาจารย์ผู้ให้การฝึกอบรม
- ความสัมพันธ์ระหว่างนโยบายการรับสมัครผู้รับการฝึกอบรมและความต้องการของระบบสุขภาพ
- สถาบันฯร่วม
- ข้อควรปรับปรุง
สถาบันฯต้องแสวงหาข้อมูลป้อนกลับเกี่ยวกับการฝึกอบรม/หลักสูตร จากผู้ให้การฝึกอบรม ผู้เข้ารับการฝึกอบรม นายจ้างหรือผู้ใช้บัณฑิต และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก รวมถึงการใช้ข้อมูลป้อนกลับเกี่ยวกับความสามารถในการปฏิบัติงานของแพทย์ผู้สำเร็จการฝึกอบรม ในการประเมินการฝึกอบรม/หลักสูตร
11. การทบทวน / พัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรม
สถาบันฯ ต้องจัดให้มีการทบทวนและพัฒนาคุณภาพของหลักสูตรฝึกอบรมเป็นระยะๆ หรืออย่างน้อยทุก 5 ปี ปรับปรุงกระบวนการ โครงสร้าง เนื้อหา ผลลัพธ์ และสมรรถนะของผู้สำเร็จการฝึกอบรม รวมถึงการวัดและการประเมินผล และสภาพแวดล้อมในการฝึกอบรม ให้ทันสมัยอยู่เสมอ ปรับปรุงแก้ข้อบกพร่องที่ตรวจพบ มีข้อมูลอ้างอิง และแจ้งผลการทบทวน และพัฒนาให้แพทยสภารับทราบ
สมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย (ผ่านทางสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย) เป็นผู้รับผิดชอบดูแลการฝึกอบรม และทบทวน / พัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมเป็นระยะ ๆ หรืออย่างน้อยทุก 5 ปี และแจ้งผลการทบทวน / พัฒนาให้แพทยสภารับทราบ
12. ธรรมาภิบาลและการบริหารจัดการ
- สถาบันฯต้องบริหารจัดการหลักสูตรให้สอดคล้องกับกฎระเบียบที่กำหนดไว้ในด้านต่างๆ ได้แก่ การรับสมัครผู้เข้ารับการฝึกอบรม (เกณฑ์การคัดเลือกและจำนวนที่รับ) กระบวนการฝึกอบรม การวัดและประเมินผล และผลลัพธ์ของการฝึกอบรมที่พึงประสงค์ การออกเอกสารที่แสดงถึงการสำเร็จการฝึกอบรมในแต่ละระดับ หรือหลักฐานอย่างเป็นทางการอื่นๆ ที่สามารถใช้เป็นหลักฐานแสดงการผ่านการฝึกอบรมในระดับนั้นได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
- สถาบันฯ ต้องกำหนดหน้าที่รับผิดชอบและอำนาจในการบริหารจัดการงบประมาณของแผนการฝึกอบรม/หลักสูตรให้สอดคล้องกับความจำเป็นด้านการฝึกอบรม
- สถาบันฯ ต้องมีบุคลากรที่ปฏิบัติงานและมีความเชี่ยวชาญที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนการดำเนินการของการฝึกอบรมและกิจกรรมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง การบริหารจัดการที่ดีและใช้ทรัพยากรได้อย่างเหมาะสม
- สถาบันฯ ต้องจัดให้มีให้มีจำนวนสาขาความเชี่ยวชาญทางการแพทย์และหน่วยงานสนับสนุนด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้องครบถ้วน สอดคล้องกับข้อบังคับและประกาศของแพทยสภาในการเปิดการฝึกอบรม
13. การประกันคุณภาพการฝึกอบรม
สมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กำหนดให้สถาบันฝึกอบรมที่จะได้รับการอนุมัติให้จัดการฝึกอบรม จะต้องผ่านการประเมินความพร้อมในการเป็นสถาบันฝึกอบรม และสถาบันฝึกอบรมจะต้องจัดให้มีการประกันคุณภาพการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องดังนี้
- การประกันคุณภาพการฝึกอบรมภายในสถาบันฝึกอบรมจะต้องจัดให้มีระบบและกลไกการประกันคุณภาพการฝึกอบรมภายใน อย่างน้อยทุก 2 ปี
- การประกันคุณภาพการฝึกอบรมภายนอก สถาบันฝึกอบรมจะต้องได้รับการประเมินคุณภาพจากคณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบฯ อย่างน้อยทุก 5 ปี